คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559
จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง
⚖️ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๖๙๖ ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป
วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ
มาตรา ๑๗๐๐ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิต หรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน
ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดังกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่าง ๆ ได้อยู่ในขณะที่การจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ
ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย
- - - - - - - - - -
#สำนักงานกฎหมายทนายใหญ่
#ทนายความ #ทนายความมืออาชีพ
#ทนายความคดีแพ่ง #ทนายความคดีอาญา
#ทนายความประจำบริษัท
#ทนายความทุกอรรถคดี
#ทนายความเพื่อประชาชน
- - - - - - - - - -
ติดต่อทนายใหญ่
Tel. : 089-810-3848 , 081-859-5978
E-mail : Lawyeryai.t@gmail.com
ที่อยู่ : 8/48 ม.18 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
Line id : yai0818 คลิกลิ้งค์ :https://lin.ee/lAWV1wU
เว็บไซต์ : www.lawyeryai.com
Comments